ชี้แจงกรณีปรากฏข่าวของ 109 ล้านบาท สู่ขิตหาประโยชน์ไม่ได้
เรียน พี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนทุกท่าน เรื่อง ชี้แจงกรณีปรากฏข่าวของ 109 ล้านบาท สู่ขิตหาประโยชน์ไม่ได้

ตามที่เพจเฟซบุ๊ก ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 ได้นำเสนอข่าวว่า “โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณหาดทรายแก้ว ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ความยาว 990 เมตร ทุ่มงบใหญ่กว่า 109,600,000 บาท แต่สภาพเขื่อนพังบริเวณส่วนต่อระหว่างทางเดินคอนกรีตเสริมเหล็กและทางจักรยาน ไม่สามารถใช้งานได้ พื้นทางเดินคอนกรีตทรุดตัวลง มีเหล็กโผล่ออกมา คาดสาเหตุเกิดจากน้ำกัดเซาะ ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ถูกปล่อยทิ้งไว้ ยังไร้การแก้ปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” ตามลิงค์ที่แนบมานี้

- https://www.facebook.com/372488206116588/posts/5331631590202200/

กรมโยธาธิการและผังเมือง ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
1. รายละเอียดโครงการ
1.1 ชื่อโครงการ: โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์
พื้นที่ชายฝั่งบริเวณหาดทรายแก้ว อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
1.2 องค์ประกอบงาน: งานโครงสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมทะเลและงานพัฒนาพื้นที่เฉพาะหาดทรายแก้ว ซึ่งบริเวณด้านหลังเขื่อนจะมีงานปรับปรุงภูมิทัศน์ ประกอบด้วย งานถมทรายบดอัดแน่น งานทางเดินคอนกรีตเสริมเหล็ก งานทางจักรยานคอนกรีตเสริมเหล็ก รางระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กรูปตัววีพร้อมบ่อพัก
1.3 ปีงบดำเนินงาน: พ.ศ. 2561 - 2563

2. สาเหตุและปัญหา
การกัดเซาะและความเสียหายของงานบริเวณพื้นที่ด้านหลังเขื่อน มีสาเหตุดังนี้
2.1 คลื่นลมตามธรรมชาติ
จากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณตำบลชิงโค ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนครจังหวัดสงขลา (บริเวณหาดทรายแก้ว) ของ กรมเจ้าท่า 2558 ระบุว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่หาดทรายแก้วนี้เกิดจากการขาดสมดุลของตะกอนทราย โดยคลื่นลมได้พัดพาและเคลื่อนย้ายตะกอนทรายออกจากพื้นที่ ในขณะที่ตะกอนทรายที่เข้ามาเติมเต็มและทดแทน มีปริมาณไม่เพียงพอ ทำให้พื้นที่หน้าหาดลดน้อยลง หาดทรายแก้วเป็นสันดอนทรายเกิดใหม่ มีสัณฐานชายฝั่งไม่มั่นคง มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งตามธรรมชาติ การเคลื่อนย้ายตะกอนทรายชายฝั่ง ในบริเวณนี้จะเคลื่อนที่จากหาดสมิหลาซึ่งอยู่ทางทิศใต้ ข้ามปากร่องน้ำทะเลสาบสงขลาขึ้นไปยังหาดทรายแก้วซึ่งอยู่ทางทิศเหนือ แต่หลังจากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายปากร่องน้ำทะเลสาบสงขลา ตะกอนทรายถูกขวางกั้นไว้ด้านใต้ ส่งผลให้ตะกอนเกิดการทับถมอย่างต่อเนื่องในบริเวณด้านใต้ของเขื่อน ทำให้พื้นที่บริเวณแหลมสนอ่อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกันกระบวนการดังกล่าวจะส่งผลกระทบทำให้ขาดสมดุลตะกอนทางด้านเหนือของเขื่อน จึงทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงที่บริเวณหาดทรายแก้ว ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือ ผลกระทบดังกล่าวได้ขยายผลขึ้นไปทางทิศเหนืออีกหลายกิโลเมตร
2.2 โครงสร้างด้านใต้ของเขื่อน
การก่อสร้างโครงสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งยื่นออกจากชายฝั่งไปในทะเล ทำให้กีดขวางการเคลื่อนที่ของตะกอนทรายจากด้านทิศใต้ที่จะเข้ามาในพื้นที่หาดทรายแก้วส่งผลให้ตะกอนทรายบริเวณพื้นที่หาดทรายแก้วลดลง ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีคลื่นลมมรสุมที่รุนแรงปะทะเข้ามายังพื้นที่ชายฝั่งบริเวณงานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลและงานปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยมีคลื่นกระโจนข้ามแนวสันเขื่อนเข้ามาด้านหลังทำให้งานทรายถมหลังเขื่อนถูกกัดเซาะส่งผลกระทบต่องานทางเดินคอนกรีตเสริมเหล็ก รางระบายน้ำ คอนกรีตเสริมเหล็กรูปตัววีพร้อมบ่อพักและงานทางจักรยานคอนกรีตเสริมเหล็กเกิดการทรุดตัว

3. แนวทางการแก้ไข
กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้แจ้งผู้รับจ้างดำเนินการแก้ไขงานที่ชำรุดเสียหายให้กลับสู่สภาพเดิมแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเข้าดำเนินการ และขอเรียนเพิ่มเติมว่ากรมโยธาธิการและผังเมืองได้รับงบประมานในปี พ.ศ. 2565 - 2567 เป็นจำนวนเงิน 36.200 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะที่เพิ่มขึ้น พร้อมเพิ่มเติมงานปรับปรุงระบบระบายน้ำด้านหลังเขื่อน ซึ่งขณะอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองขอขอบคุณสำนักข่าวและสื่อมวลชนที่ได้เสนอข่าวดังกล่าว ทำให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนได้ทราบทันสถานการณ์ตามนโยบายของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ที่มอบไว้มา ณ โอกาสนี้

จึงเรียนมาเพื่อทราบ นายพรพจน์ เพ็ญพาส
อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง
แท็ก
ฝัง
คัดลอก