เรื่อง ชี้แจงเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา หมู่ 6 และ หมู่ 7 ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
ตามที่มีผู้ใช้ Tik Tok ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา หมู่ 6 และ หมู่ 7 ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี รวมทั้งการกั้นรั้วบนทางเท้าทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์บนสันเขื่อนซึ่งเป็นที่สาธารณะได้ และมีสื่อมวลชน คือ รายการประเด็นข่าวเข้มช่อง PPTV ช่อง 36 รายการไทยรัฐนิวส์โชว์ ช่อง 32 และรายการข่าวช่องวัน เสาร์-อาทิตย์ ช่อง 31 ได้นำเสนอข้อสงสัยของผู้ใช้ Tik Tok ท่านนั้น รวมถึงตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินโครงการดังกล่าวของกรมโยธาธิการและผังเมือง ตามลิงค์ ที่แนบมานี้
- EP1 : https://bit.ly/35QI8Df
- EP2 : https://bit.ly/3rwDAKS
- https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/165915
- https://www.thairath.co.th/tv/program/thairath_news_show/593065
- https://www.youtube.com/watch?v=T13n4j8cbxo
กรมโยธาธิการและผังเมือง ขอแจ้งรายละเอียดโครงการดังนี้ กรมฯ ได้ว่าจ้างบริษัท อมตะ มหานคร จำกัด ทำการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา หมู่ 6 และ หมู่ 7 ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ความยาว 340 เมตร วงเงินค่าก่อสร้าง 46,700,000 บาท (สี่สิบหกล้านเจ็ดแสนบาทถ้วน) เริ่มก่อสร้างเดือนเมษายน 2560 และก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 และขอชี้แจงข้อเท็จจริงจากประเด็นที่เกิดขึ้นจากสื่อมวลชน ดังนี้
- งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา หมู่ 6 และ หมู่ 7 ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เป็นรูปแบบเขื่อนป้องกันตลิ่งที่มีทางเท้าและราวกันตก โดยระหว่างทำการก่อสร้างมีประชาชน 1 ราย คือ นายชะอุ่ม รักไทยนิยม ซึ่งมีแนวเขตที่ดินอยู่ชิดกับแนวก่อสร้าง ได้แจ้งว่าไม่ต้องการให้ก่อสร้างในช่วงแนวเขตที่ดินของตน เนื่องจากที่บ้านของตนมีแต่คนชราและเด็กพักอาศัยอยู่เกรงว่าหากมีการก่อสร้างจะทำให้มีผู้คนเดินผ่านไป-มา และเกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
แต่เมื่อกรมฯ ได้พิจารณาแล้ว พบว่าช่วงที่ขอเว้นการก่อสร้างมีความยาว 13 เมตร ซึ่งบริเวณดังกล่าวยังมีการกัดเซาะจากกระแสน้ำอยู่และจะทำให้โครงสร้างเขื่อนไม่มีความมั่นคงแข็งแรง และหากอนาคตจำเป็นต้องทำการก่อสร้างก็จะเข้ามาดำเนินการได้ยาก เพื่อแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบต่างๆ ดังกล่าว กรมฯ ได้หารือร่วมกับเทศบาลตำบลเชียงรากใหญ่ และนายชะอุ่มแล้วจึงปรับรูปแบบก่อสร้างช่วงดังกล่าวเป็นการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งโดยเว้นงานก่อสร้างทางเท้าและราวกันตก (บริเวณริมแม่น้ำ) ไว้ก่อนในช่วงแนวเขตที่ดินของนายชะอุ่ม รักไทยนิยม
- จากการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งดังกล่าวในแนวเขตที่ดินของนายชะอุ่ม รักไทยนิยม (ความยาว 13 เมตร) โดยไม่ได้ก่อสร้างทางเท้าและราวกันตก (บริเวณริมแม่น้ำ) ส่งผลให้รูปแบบก่อสร้างเขื่อนมีความต่างระหว่างระดับสันเขื่อนกับระดับทางเท้า 0.70 เมตร หรือ 70 เซนติเมตร (รูปที่ 1) กรมฯ เห็นว่าเมื่อมีการใช้งานจะเกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้งานจากพื้นทางเท้าที่มีระดับแตกต่างกันถึง 70 เซนติเมตร จึงต้องสร้างราวกันตกกั้นไว้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนผู้ใช้งานในจุดดังกล่าว ซึ่งเป็นการกั้นไว้ชั่วคราว ปัจจุบันกรมฯ อยู่ระหว่างดำเนินการส่งมอบให้เทศบาลตำบลเชียงรากใหญ่ดำเนินการดูแลรักษาต่อไปพร้อมให้แนวทางกับเทศบาลตำบลเชียงรากใหญ่ ว่าต้องดำเนินการให้ชุมชนเกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินโดยให้เทศบาลตำบลเชียงรากใหญ่ดำเนินการก่อสร้างพื้นทางเท้าและราวกันตก (บริเวณริมแม่น้ำ) พร้อมรื้อถอนราวกันตกที่ดำเนินการไว้ชั่วคราวออกไป
ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองขอขอบคุณสำนักข่าวและสื่อมวลชนได้เสนอข่าวดังกล่าวทำให้กรมโยธาธิการและผังเมืองได้มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนได้ทราบทันสถานการณ์ตามนโยบายของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยที่มอบไว้มาณโอกาสนี้
จึงเรียนมาเพื่อทราบ นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง

รูปที่ 1